สารบัญ
1. รู้จักผู้ฟังของคุณ
ก่อนการพรีเซนต์งาน หรือนำเสนองานนั้น ผู้นำเสนอจะต้องทำความรู้จักกับผู้ฟังที่จะมาฟังคุณในวันนี้เสียก่อน ลองตั้งคำถามว่าผู้ฟังของคุณเป็นใคร? พวกเขาชอบอะไร? พวกเขาน่าจะพอรู้เรื่องอะไรแล้วบ้าง? ทำการบ้านของคุณให้ดี ปรับเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ, ระดับความรู้, และความคาดหวังของผู้ฟัง การรู้จักผู้ฟังจะช่วยให้คุณเลือกใช้ภาษา, ตัวอย่าง, และระดับของรายละเอียดได้อย่างเหมาะสม
2. การนำเสนอด้วยเทคนิค Storytelling
สำหรับผู้นำเสนอแล้วเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในการนำเสนออย่างไรให้สนุก น่าติดตาม ไม่น่าเบื่อ และเทคนิคของเราในวันนี้คือการเล่าเรื่องโดยการใช้เทคนิค Storytelling ให้คุณคิดว่าหัวข้อที่คุณต้องการนำเสนอ หรือพรีเซนต์ให้กับผู้ฟังในวันนี้นั้นเป็นเรื่องที่คุณอยากจะเล่าให้เพื่อนฟัง โดยเทคนิคในการพรีเซนต์แบบ Storytelling ก็คือ ผู้นำเสนอจะต้องวางแผนโครงร่างที่ชัดเจนของเนื้อหาที่การเล่า เพื่อที่ผู้นำเสนอจะสามารถบรรยายได้อย่างไม่ติดขัดและเชื่อมโยงกัน อีกทั้งยังช่วยให้การนำเสนอราบรื่น และผู้ฟังสนุกกับการรับข้อมูลอีกด้วย
3. การเปิดตัวที่ดึงดูดและการสรุปที่เข้มแข็ง
เมื่อการนำเสนอเริ่มต้นขึ้น ผู้นำเสนอสามารถเริ่มต้นเปิดการพรีเซนต์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้โดยอาจใช้เทคนิคการเล่าเรื่องราว, การตั้งคำถาม, หรือข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ฟัง จากนั้นเมื่อการนำเสนอดำเนินมาจนถึงตอนจบ ผู้นำเสนอสามารถสรุปจบท้ายด้วยการสรุปที่สตรองเพื่อโน้มน้าวผู้ฟังให้คล้อยตามได้
4. สร้างสื่อการนำเสนอให้น่าสนใจ
สื่อการนำเสนอเช่น สไลด์พรีเซนต์เทชัน, แผนภูมิ, หรือวิดีโอ สามารถเรียกความสนใจ และทำให้ผู้ฟังเห็นภาพ เข้าใจ และจดจำรายละเอียดของการนำเสนอได้ดีกว่าการพูดบรรยายเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นผู้นำเสนอควรเตรียมสื่อการนำเสนอให้ดี และเหมาะสมแก่กลุ่มผู้ฟัง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสื่อการนำเสนอของคุณมีความชัดเจน และไม่แออัดไปด้วยข้อมูล เพราะจะทำให้ผู้ฟังไม่สนใจ และเกิดความเบื่อได้
5. ฝึกการนำเสนอของคุณ
การฝึกฝนวิธีพรีเซนต์งาน หรือการนำเสนอหลาย ๆ ครั้งจะช่วยให้ผู้นำเสนอคุ้นเคยกับเนื้อหา และปรับปรุงวิธีการนำเสนอให้ราบรื่น และสนุกขึ้นได้ ผู้นำเสนอสามารถลองฝึกในสถานการณ์ที่ต่างกัน เช่น ในที่ที่มีคนดู และไม่มีคนดู ฝึกฝนหน้ากระจกด้วยตัวเอง ใช้โทรศัพท์บันทึกขณะที่ฝึกซ้อม หรือขอร้องให้เพื่อนมาช่วยพิจารณาการนำเสนอของคุณก็ได้ การฝึกซ้อมบ่อย ๆ จะช่วยสร้างความมั่นใจและลดอาการประหม่าในขณะนำเสนอได้ นอกจากนี้คุณสามารถรู้ได้ว่า จังหวะ, โทนเสียง และภาษากายของคุณในขณะซ้อมนั้นมีจุดไหนที่ควรปรับปรุงหรือเปล่าอีกด้วย
6. มีส่วนร่วมกับผู้ฟังของคุณ
การที่ผู้พรีเซนต์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง จะทำให้ผู้ฟังให้ความสนใจกับการนำเสนอมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม หรือการทำกิจกรรมร่วมกับผู้ฟัง การมีส่วนร่วมที่ดีจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอ รวมถึงภาษากายของผู้นำเสนอก็มีอิทธิพลต่อผู้ฟังเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสบตา, การแสดงท่าทาง หรือภาษากายต่าง ๆ สามารถสร้างความเชื่อมโยงที่ดีและทำให้คุณดูมีชีวิตชีวามากขึ้นได้
7. จัดการเวลาในการนำเสนอ
เวลาในการนำเสนอเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน หากนานเกินไปก็จะทำให้ผู้ฟังหมดความสนใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการนำเสนอได้ เคารพเวลาของผู้ฟังโดยการอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด วางแผนการนำเสนอเพื่อให้มีเวลาในการถามตอบและอภิปรายในตอนท้าย การจัดการเวลาที่ดีจะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ
8. รับมือกับคำถามอย่างมั่นใจ
ผู้ฟังจะต้องเตรียมตัวสำหรับคำถามโดยการคาดการณ์สิ่งที่ผู้ฟังอาจถาม และการตอบสนองอย่างชัดเจนและกระชับ การเตรียมตัวมาอย่างดีจะทำให้คุณมั่นใจ และตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็น อีกทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือให้คุณเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย