Film director ทำอะไร ? เผยเบื้องหลังของผู้กำกับหนังที่น้อยคนเห็น

Jul 8 / IkonClass Staff
Film director หรือ ผู้กำกับหนัง มีหน้าที่พัฒนาภาพยนตร์จากเนื้อเรื่องที่อยู่บนสคริปต์ ซึ่งผู้กำกับจะต้องสื่อสารวิศัยทัศน์ให้กับลูกทีมว่าภาพยนตร์ควรจะออกมาเป็นยังไงในเชิงของภาพ แสง สี เสียง และการแสดง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทุกปัจจัยที่อยู่ในภาพยนตร์ล้วนเป็นการตัดสินใจของผู้กำกับ ซึ่งในบทความนี้ IkonClass จะมาเจาะลึกหน้าที่ของ Film director ในทุกขั้นตอนของการถ่ายทำ สำหรับใครที่อยากรู้จักหน้าที่ของ Film director มากขึ้น ห้ามพลาดบทความนี้ !
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนกับช่างภาพแฟชั่นมือ 1 ของประเทศไทย

Pre-production (ก่อนการถ่ายทำ)

Pre-production คือการวางแผนการถ่ายทำ ซึ่งในฐานะของผู้กำกับหนัง พวกเขาจะมีหน้าที่หลักในการวิเคราะห์สคริปต์ การทำ Storyboard การวางแผนงานกับเหล่าหัวหน้าแผนก การแคสนักแสดง และการเตรียมอุปกรณ์การถ่ายทำ 

วิเคราะห์สคริปต์

สคริปต์คือหัวใจหลักของภาพยนตร์ เพราะทุกเนื้อหาของสคริปต์จะถูกนำมาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ผู้กำกับจะต้องทำก็คือการวิเคราะห์บทและมองหาจุดอ่อนที่ควรแก้ไข โดยปกติแล้วผู้กำกับจะทำงานกับนักเขียนบทอย่างใกล้ชิด หรือในบางครั้งก็เป็นคนร่วมเขียนบท ผู้กำกับจะต้องมั่นใจกับตัวสคริปต์และโครงสร้างของเรื่องก่อนการถ่ายทำ เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงเรื่องในภายหลังเป็นสิ่งที่เสียเวลาและเสียงบประมาณ

อีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้กำกับและนักเขียนบทจะต้องระวังก็คือ “งบประมาณ” โดยหลักการคิดแบบง่าย ๆ ยิ่งมีการใช้ตัวละครเยอะและการใช้สถานที่หลายแห่งมากเท่าไหร่ ค่าจ้างนักแสดงและค่าเช่าสถานที่ก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะกับโปรเจ็คเล็กที่มีงบประมาณไม่มาก อาจจะต้องคำนึงถึงจำนวนสถานที่และจำนวนตัวละครเป็นพิเศษ

สร้าง Storyboard

Storyboard (สตอรี่บอร์ด) คือบอร์ดที่เต็มไปด้วยภาพวาดของแต่ละฉากในสคริปต์ ปัจจัยหลักของภาพวาด Storyboard จะประกอบไปด้วย 1) ท่าทางตัวละคร 2) ฉาก และ 3) ข้อมูลทางเทคนิคเช่น มุมกว้าง มุมแคบ ระดับกล้อง ชนิดกล้อง และเวลาที่จะใช้ในการถ่ายทำ การสร้าง Storyboard เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะผู้กำกับจะต้องนำ Storyboard นี้ไปนำเสนอและบรีฟงานให้กับ Department head อื่น ๆ 

จ้าง Department head

เมื่อได้สคริปต์ที่ลงตัวแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหา Department head หรือหัวหน้าแผนกของแต่ละแผนก เพราะในขณะที่ถ่ายทำ ผู้กำกับจะใช้เวลากับการกำกับนักแสดงเป็นส่วนใหญ่โดยที่จะไม่มีเวลาคุมแผนกอื่น ๆ เลยเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องจ้าง Department head มาคอยช่วยแบ่งเบาภาระและคอยสื่อสารสิ่งที่ Film director ต้องการให้กับลูกทีมอีกที โดยปกติแล้ว Department head จะประกอบไปด้วย :
  • Director of Photography (DoP) : หรือมีอีกชื่อเรียกว่า “Cinematographer” ทำหน้าที่ดูแลการถ่ายทำ โดยเฉพาะการเลือกใช้กล้อง การจัดวางกล้อง การจัดแสงไฟ เพื่อให้ฉากที่ถ่ายออกมาดูสวยและเป็นไปตามที่ผู้กำกับต้องการ
  • Gaffer : แกฟเฟอร์หรือผู้กำกับแสง จะคอยทำงานร่วมกับ DoP เพื่อจัดแสงตามที่บรีฟไว้
  • Production designer : เป็นผู้กำกับศิลป์ที่ดูแลเรื่องการออกแบบฉาก เป็นคนที่ตัดสินใจสไตล์การตกแต่งของทุกฉากและวางแผนวัสดุหรือโครงสร้างที่จะต้องใช้ รวมไปถึงการสร้าง Prop สำหรับนักแสดง
  • VFX / SFX Supervisor : VFX (Visual effect) คือการแต่งเติมภาพถ่ายจริงด้วยเอฟเฟคพิเศษบนคอมพิวเตอร์ ส่วน SFX (Special effect) คือการสร้างเอฟเฟคในฉากด้วยวัสดุของจริง ทั้งสองอย่างนี้จะมี Supervisor หรือหัวหน้าที่คอยวางแผนการใช้เอฟเฟคตั้งแต่ช่วง Pre-production กับผู้กำกับ พวกเขาจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำว่าในแต่ละฉากจะสามารถสร้างเอฟเฟคอะไรได้บ้างในงบประมาณที่มี
  • Production sound mixer : เป็นคนที่ดูแลเรื่องเสียงระหว่างถ่ายทำเช่นการอัดเสียงพูดของตัวละครหรือเสียงพื้นหลังของฉาก โดยที่ Production sound mixer จะคอย Mix เสียงที่ถูกอัดในระหว่างถ่ายทำเพื่อเก็บเสียงที่สมจริงและชัดเจน
  • Hair / Makeup / Costume : สำหรับการแต่งตัวและการแต่งหน้า ผู้กำกับจะต้องจ้างช่างแต่งหน้า (Key makeup artist), ช่างแต่งตัว (Key hair stylist) และคนทำชุด (Costume designer) แยกกัน โดยเฉพาะ Costume designer จะมีส่วนร่วมกับผู้กำกับใน Pre-production มากกว่าช่างแต่งหน้าหรือช่างทำผม
  • Stunt coordinator : ทำหน้าที่ออกแบบท่าทางการต่อสู้และสอนให้กับนักแสดงหรือสตั้นแมน

ขึ้นอยู่กับขนาดของโปรเจคและงบประมาณ ผู้กำกับอาจจะไม่ได้จ้าง Department head ทั้งหมดที่กล่าวมา เช่น ถ้าเป็นหนังที่ไม่ได้มีเอฟเฟคอลังการหรือฉากต่อสู้ การใช้ VFX Supervisor หรือ Stunt coordinator ก็อาจจะไม่จำเป็น หรือในการถ่ายทำขนาดเล็ก DoP ก็จะสวมหมวกเป็น Gaffer ไปในตัว

แคสนักแสดง

ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะช่วยกันคัดนักแสดงที่เหมาะกับตัวละครมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะสื่อสารกับ Casting director เพื่อให้ช่วยหากลุ่มนักแสดงที่ดูมีแวว ส่วนผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะเป็นคนตัดสินใจในรอบสุดท้ายอีกที

เตรียมตัวก่อนถ่ายทำ

ในขั้นตอนสุดท้ายของ Pre-production ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะต้องเช็กความพร้อมสำหรับการถ่ายทำ ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสารกับ DoP เกี่ยวกับอุปกรณ์กล้อง การสื่อสารกับ Production designer เพื่อเช็กว่ามีเฟอร์นิเจอร์และแผนการจัดฉากสำหรับถ่ายทำ การสื่อสารกับ Line producer หรือ 1st Assistant director ว่ามีตารางการถ่ายทำที่แม่นยำและมีการเช่าสถานที่พร้อมสำหรับการถ่ายทำ

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาของขั้นตอนการถ่ายทำที่เรียกว่า Production นั่นเอง

Production (การถ่ายทำ)

ผู้กำกับแต่ละคนจะมีสไตล์การกำกับที่ไม่เหมือนกันและมีวิศัยทัศน์ต่อภาพยนตร์ที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นสไตล์การกำกับและสิ่งที่ผู้กำกับให้ความสำคัญล้วนเป็นอัตนัยส่วนบุคคล ไม่มีผิดและไม่มีถูก แต่โดยหลัก ๆ แล้ว Director จะมีหน้าที่ดังนี้ในระหว่างการถ่ายทำ :
  • คุมโทน : ไม่ได้หมายถึงโทนสีแต่หมายถึงโทนอารมณ์ของหนัง เช่น หนังโรแมนติกก็ควรจะมีการจัดฉาก จัดแสง และการแสดงที่เหมาะสมกับอารมณ์ของ “โรแมนติก” หรือว่าถ้าเป็นหนังสยองขวัญ การจัดฉาก จัดแสง และสีหน้าการแสดงก็ควรจะสื่อออกมาว่านี่คือหนังที่น่ากลัว
  • กำกับการแสดง : ผู้กำกับจะต้องคอยสื่อสารกับนักแสดงในส่วนของท่าทางการแสดง การพูดบท และสีหน้าอารมณ์ ผู้กำกับจะต้องมี “ไอเดีย” อยู่แล้วว่าตัวละครในแต่ละฉากควรจะแสดงออกยังไง
  • กำกับภาพ : ผู้กำกับจะทำงานร่วมกับ DoP เพื่อหามุมกล้อง การจัดวางตัวละครในกล้อง และการจัดแสงไฟที่ดีที่สุด ผู้กำกับจะทำหน้าที่สื่อสารกับ DoP ว่าเขาจินตนาการแต่ละฉากไว้แบบไหนและ DoP ก็จะมีหน้าที่อำนวยความต้องการนั้น ๆ บ่อยครั้งอาจจะมีการกลับไปอิง Storyboard ที่เคยสร้างไว้ในช่วง Pre-production
  • แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า : ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคของนักแสดง การกำกับภาพ การกำกับฉาก หรือแม้แต่สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการถ่ายทำ ผู้กำกับมีหน้าที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อให้การถ่ายทำดำเนินไปตามแผน ซึ่งจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ และประสบการณ์การทำงานมาช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

Post-production (หลังการถ่ายทำ)

ในส่วนสุดท้ายของการสร้างภาพยนตร์ก็คือ Post-production ที่ผู้กำกับก็จะต้องทำงานกับ Editor (นักตัดต่อ), Sound designer (นักออกแบบเสียง) และ Composer (นักประพันธ์เพลง)

Editor (นักตัดต่อ)

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าหนังที่เราดูกันในโรงไม่ใช่สิ่งที่ถูกถ่ายทำตั้งแต่ตอนแรก เพราะในช่วงของการตัดต่อ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์อาจจะเลือกตัดบางฉากออกเพื่อความกระชับของหนัง แต่มากไปกว่านั้น นักตัดต่อมีหน้าที่เลือกใช้มุมกล้องในแต่ละฉาก และใช้เทคนิคการตัดต่อเพื่อควบคุม “จังหวะ” ของหนัง เช่น หนังที่ถูกสลับมุมกล้องบ่อย ๆ จะทำให้รู้สึกว่าจังหวะหนังดูเร็ว ส่วนฉากที่สลับมุมกล้องน้อย อาจจะทำให้จังหวะดูช้าลงและทำให้คนดูโฟกัสหนังได้ดีกว่า ซึ่งการตัดต่อหนังจะมีผู้กำกับคอยดูแลและให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ว่าในแต่ละฉากควรจะเลือกใช้มุมกล้องไหนและความถี่ของการสลับมุม สุดท้ายแล้วผู้กำกับจะมีอำนาจในการตัดสินใจมากที่สุดในระหว่างการตัดต่อ

Sound designer (นักออกแบบเสียง)

หลังจากการตัดต่อ ผู้กำกับจะต้องทำงานร่วมกับนักออกแบบเสียงเพื่อหาเสียงที่เหมาะกับแอ็คชั่นของตัวละครและสภาพแวดล้อมของฉาก ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่ตัวละครวิ่ง ยิงปืน ว่ายน้ำ หรือเสียงรถยนต์ เสียงเครื่องบิน ฯลฯ ก็ควรจะมีเสียงประกอบที่เหมาะสม

Composer (นักประพันธ์เพลง)

นักประพันธ์เพลงเป็นคนที่แต่งเพลงพื้นหลังของแต่ละฉาก เสียงดนตรีที่ดีควรจะทำงานร่วมกันกับ “อารมณ์” ของฉากนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในฉากแอ็คชั่นก็ควรเป็นเสียงเพลงที่ทำให้คนดูรู้สึกตื่นตัวและรู้สึกลุ้น หรือในฉากที่กำลังเจอสัตว์ประหลาดก็ควรเป็นเสียงเพลงที่ทำให้รู้สึกกลัว ซึ่งผู้กำกับจะคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับ Composer ว่าเขากำลังมองหาเสียงแบบไหนในแต่ละฉาก

เมื่อตัดต่อภาพและเสียงเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเป็นการสิ้นสุดการผลิตภาพยนตร์และพร้อมออกฉายตามโรงภาพยนตร์ นอกเหนือจากการผลิตแล้ว ผู้กำกับยังมีหน้าที่ในการออกสื่อเพื่อช่วยโปรโมทหนังของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการทำสัมภาษณ์ การออกงานรอบฉายพิเศษ หรือการจัดทัวร์กับนักแสดงนำในเมืองต่าง ๆ

ณัฐ ประกอบสันติสุข
สอนการถ่ายภาพแฟชั่น

เรียนรู้ทุกเคล็ดลับและเทคนิคจากช่างภาพแฟชั่นอันดับ 1
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทสรุป

และนี่ก็คือหน้าที่หลักของการเป็น Film director ในแต่ละขั้นตอนของการถ่ายทำ จะเห็นได้ว่าผู้กำกับก็เปรียบเสมือน CEO ที่คอยชี้แนะลูกทีมให้ทำตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจหน้าที่ของผู้กำกับมากยิ่งขึ้นและปลุกแพชชั่นการเป็น Film director ในตัวคุณ สำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ อ่านต่อได้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

คอร์สเรียนของเรา