รู้จักกับ Sneakers รองเท้าผ้าใบที่ครองใจคนทั้งโลก

Oct 27 / IkonClass Staff
เมื่อพูดถึงแฟชั่นในยุคปัจจุบันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้จัก "Sneakers" (อ่านว่า สนีกเกอร์) หรือที่คนไทยเรียกว่า "รองเท้าผ้าใบ" หรือ "รองเท้ากีฬา" นั่นเอง แต่คุณเคยสงสัยไหม ? ว่าอะไรคือจุดกำเนิดของ Sneakers และอะไรทำให้รองเท้าผ้าใบธรรมดา ๆ กลายมาเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกได้ ? ในบทความนี้ IkonClass จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับประวัติของ Sneakers รองเท้าผ้าใบที่สะเทือนวงการแฟชั่นไปตลอดกาล
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนแต่งหน้ากับช่างแต่งหน้าอันดับ 1 ของประเทศไทย

กำเนิดรองเท้าผ้าใบ

ในช่วงปีค.ศ. 1839 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Charles Goodyear คิดค้นวิธีแปรรูปยาง (Vulcanization) ด้วยการนำกำมะถันไปใส่ยางร้อนทำให้เกิดตัวยางที่ยืดหยุ่น กันน้ำ และง่ายแก่การขึ้นรูป หลายสิบปีให้หลังในช่วงปี 1876 รูปแบบยางนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตรองเท้าโดยบริษัทผลิตยางในประเทศอังกฤษเรียกรองเท้าว่า Plimsolls, รองเท้าชายหาด, หรือบ้างก็เรียกว่าเป็นรองเท้าเทนนิส ซึ่งในช่วงยุคเริ่มต้น รองเท้าผ้าใบจะถูกใส่โดยคนชนชั้นสูงเวลาเล่นกีฬาอย่างเทนนิสหรือโครเก แต่เมื่อเวลาผ่านไป รองเท้าผ้าใบก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายประจำคาบเรียนพลศึกษาในประเทศอังกฤษ

ส่วนคำว่า "Sneakers" ที่แปลตรงตัวได้ว่า "นักย่องเบา" นั้นอ้างอิงถึงเอกลักษณ์พื้นรองเท้ายางที่ไร้เสียงเวลาใส่เดิน ต่างจากรองเท้าหนังที่ใส่เดินแล้วมีเสียงส้นกระทบกับพื้น

Sneakers ดังเพราะนักกีฬา

รองเท้าผ้าใบสีขาวยี่ห้อ Converse
ช่วงต้นยุค 1900s เป็นช่วงที่มีการผลิตรองเท้า Sneakers สู่ตลาดมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ Keds ที่นำหน้าวางขายในปี 1916 หรือยี่ห้อ Converse ในปี 1917 และในฝั่งของประเทศเยอรมนีก็มีสองพี่น้อง Rudolf & Adolf "Adi" Dassler (เป็นที่รู้จักในภายหลังว่า "Adidas") ในปี 1924

ในช่วงยุคนี้ รองเท้า Sneakers ส่วนมากจะเน้นผลิตเพื่อการกีฬาและนิยมนำนักกีฬามาเป็นพรีเซนเตอร์ ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์ Converse ในปี 1920 ที่นำนักบาสมืออาชีพ Chuck Taylor มาช่วยโปรโมทรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ Chuck Taylor มีอิทธิพลต่อยอดขายและชื่อเสียงของ Converse มากจนทางแบรนด์ตัดสินใจใส่ลายเซ็น Chuck Taylor ไว้บนรองเท้ารุ่น All Star ทุกคู่ตั้งแต่นั้นมา และในปี 1936 ที่การแข่งขัน Berlin Olympics บริษัทรองเท้า Converse ก็ได้สปอนเซอร์ทีมนักบาสชาวอเมริกันให้กับผู้เล่นทั้งทีม ในขณะเดียวกันนักวิ่งชาวเยอร์มัน Jesse Owen ก็ชิงรางวัลเหรียญทองมาได้ถึง 4 เหรียญในขณะที่เขาใส่รองเท้าวิ่งของพี่น้อง Dassler 

แต่จุดผลิกผันของการสปอนเซอร์นักกีฬาที่ทำให้รองเท้า Sneakers กลายเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก นั่นก็คือการจ้างนักบาสมือสมัครเล่นอย่าง Michael Jordan ในปี 1984 โดยบริษัทรองเท้าวิ่งที่ชื่อ Nike ได้ฉีกกฎระเบียบของ NBA ที่ดั้งเดิมบังคับให้นักบาสสวมใส่รองเท้าที่เป็นสีขาวเพียงเท่านั้น โดยการออกแบบรองเท้าของ Michael Jordan ให้มีสีดำ แดง ขาว ภายใต้ชื่อรุ่น "Air Jordan 1s"
Michael Jordan
หลังจากที่ Michael Jordan ได้คว้าแชมป์ NBA ไปหลายสมัยจนถูกยกย่องให้เป็นนักบาสระดับตำนาน เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ Sneakers ที่ Michael Jordan ใส่มากขึ้นและเป็นการบุกเบิกเทรนด์แฟชั่นการใส่รองเท้า Sneakers

Sneakers ดังเพราะนักแสดงและศิลปิน

สมาชิควง Run DMC
แต่ก็ไม่ได้มีเพียงแค่นักกีฬาที่ผลักดันกระแส Sneakers เพราะในช่วงปี 1950 หนุ่มสาววัยรุ่นในอเมริกาเริ่มหันมาใส่ Sneakers คู่กับกางเกงยีนตามรอยดาราดังอย่าง Marlon Brando และ Marilyn Monroe แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่คนเริ่มหันมาสนใจการแต่งตัวเช่นนี้ก็เพราะรองเท้า Sneaker ให้ความสะดวกสบายและความคล่องแคล่วที่ไม่มีในรองเท้าหนังนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว เทรนด์การใส่ Sneakers ยังถูกเผยแพร่โดยศิลปิน Hip hop ชื่อดังอย่าง LL Cool J, Grandmaster Flash, Run-DMC, Jay-Z, Kanye West และศิลปิน Kurt Cobain จากวงร็อกระดับตำนานอย่าง Nirvana ที่ใส่ Converse เพื่อแสดงถึง “การกบฏ” ของการเป็นวัยรุ่น

Sneakers ในยุคปัจจุบัน

จากรองเท้าที่ถูกสร้างเพื่อนักกีฬาสู่การเป็นทรัพย์สินของนักสะสม ด้วยความเข้าถึงรองเท้าผ้าใบที่ง่ายในราคาที่จับต้องได้ในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้คนเริ่มมีความสนใจในการสะสมรองเท้ารุ่น Limited edition หรืองาน Collaboration ต่าง ๆ ที่ถูกผลิตในจำนวนจำกัด เพราะมันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ทางฐานะและความพึงพอใจส่วนบุคคลในการมีสิ่งของที่คนทั่วไปนั้นไม่มี ยกตัวอย่างของรองเท้า Sneakers ที่มีราคาสูงตั้งแต่ 100,000 USD - 1 ล้าน USD และหาได้ยาก เช่น Nike Air Force 1 Low x Louis Vuitton, 'Bred' Air Jordan 13, Solid Gold OVO x Air Jordans, Kayne West Nike Air Yeezy 1 'Prototype', Nike MAG Back to the Future และอีกมากมาย

และในยุคปัจจุบัน เราจะเห็นการแบ่งแยกระหว่างรองเท้ากีฬาและรองเท้าแฟชั่นได้อย่างชัดเจน รองเท้าผ้าใบที่ถูกพัฒนาและจัดจำหน่ายเพื่อการกีฬาก็จะมีเช่น Hoka, Asics, Saucony แต่รองเท้าผ้าที่ถูกผลิตเพื่อการแฟชั่นก็จะมี Adidas, Nike, New Balance, Vans, Balenciaga เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อนที่รองเท้าผ้าใบถูกใช้ในการกีฬาและการแฟชั่น ยกตัวอย่างเช่น Converse Chuck Taylor All Star

ป้อม วินิจ
สอนการแต่งหน้าและความงาม

เรียนรู้ทุกเคล็ดลับและเทคนิคจากช่างแต่งหน้าอันดับ 1
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทส่งท้าย

แต่ท้ายที่สุดแล้ว Sneakers ทุกรุ่นถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่ามันจะเป็นรองเท้ารุ่นทั่วไปหรือรุ่นพิเศษที่หายาก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการมีความสุขกับการแต่งตัวและความมั่นใจในสิ่งที่คุณใส่ สำหรับเกร็ดความรู้ดี ๆ สามารถอ่านต่อได้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

คอร์สเรียนของเรา