Producer หนังทำอะไร ? เผยเบื้องหลังการเป็นโปรดิวเซอร์ในกองถ่าย

Jul 3 / IkonClass Staff
ในวงการบันเทิง “Producer” (โปรดิวเซอร์) จะต้องสวมหมวกหลายใบ เพราะโปรดิวเซอร์จะต้องรับผิดชอบหลายหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการถ่ายทำ การแคสนักแสดง การกำกับ การตัดต่อ การหาทุน รวมไปถึงการตลาด ซึ่ง Producer จะต้องให้คำชี้แนะในเกือบทุก ๆ ด้านของการถ่ายทำภาพยนตร์ ในบทความนี้ IkonClass จะพาผู้อ่านไปเจาะลึกหน้าที่ของ Producer ในแต่ละช่วงของการถ่ายทำ รวมถึงตำแหน่ง Producer ต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่
เรียนกับช่างภาพแฟชั่นมือ 1 ของประเทศไทย

เป้าหมายของ Producer

เป้าหมายของโปรดิวเซอร์ก็คือการนำไอเดียหรือเนื้อเรื่องแปลกใหม่ เนื้อเรื่องที่มีแววดัง หรือมีโอกาสทำเงิน และนำไอเดียนั้นไปพัฒนาเป็นภาพยนตร์ ซึ่ง Producer ก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องในทุก ๆ ขั้นตอนของการถ่ายทำทั้งใน Pre-production, Production และ Post-production จนไปถึงการทำการตลาดและการออกสื่อ หรือถ้าให้เปรียบเทียบกับงานในบริษัท Producer ก็เหมือนกับ Project Manager คนหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลขั้นตอนการผลิตให้ตรงตามวันกำหนด ตรงตามงบประมาณที่ตั้งไว้ และตรงตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้ในตอนแรก

Pre-production (เตรียมถ่ายทำ)

ในขั้นตอนของ Pre-production โปรดิวเซอร์จะเริ่มจากการหา “ไอเดีย” ที่จะนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์ซึ่งจะเริ่มจากการออกค้นหานักเขียนบท และเมื่อได้บทที่ต้องการแล้ว จากนั้น Producer ก็จะเริ่มจัดหาผู้กำกับ นักแสดงนำ (โดยเฉพาะดาราดัง) ตากล้อง ฯลฯ และรวบรวมบทพร้อมกับทีมที่มีไปนำเสนอไอเดียให้กับนักลงทุนอย่างบริษัทถ่ายทำหรือสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ เช่น GTH, GMM Grammy, GDH 559, ช่อง 3, ช่อง 7, Workpoint ในประเทศไทยเป็นต้น หรือตัวอย่างในต่างประเทศก็จะมี Universal Studios, Warner Bros., 20th Century Studios, HBO, PBS ที่ทุกคนคุ้นเคยกัน

พอสตูดิโอให้ไฟเขียวกับโปรเจคแล้ว Producer ก็ต้องกลับมาทบทวนงบประมาณที่ได้ พร้อมกับวางแผนการถ่ายทำให้ลงตัวกับตารางงานของทีม และการวางแผนให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้งบประมาณไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าเดินทาง ค่าการตลาด ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ ค่าเช่าสถานที่ ค่าสร้างเซ็ท และทุกอย่างที่ต้องใช้ในการถ่ายทำ

Production (ถ่ายทำ)

ระหว่างการถ่ายทำ Producer จะต้องสื่อสารตารางงานให้กับทีมงานได้อย่างชัดเจนว่าในแต่ละวันจะต้องทำอะไร เช่น ถ่ายทำฉากอะไร ต้องใช้บุคลากรจากแผนกอะไร ต้องเซ็ทฉากยังไง ฯลฯ และคุมการถ่ายทำให้อยู่ในงบประมาณ นอกจากนี้แล้วโปรดิวเซอร์ยังต้องเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้กำกับ คอยช่วยออกความคิดเห็นและช่วยตัดสินใจในสิ่งที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับการถ่ายทำ การแสดง การตีความบท การนำเสนอบท การแก้ไขบท เพราะฉะนั้น Producer จะรับผิดชอบทั้งในบริบทของธุรกิจและในบริบทของผู้สร้างสรรค์ผลงาน

Post-production (หลังถ่ายทำ)

ขึ้นอยู่กับสไตล์การทำงาน โปรดิวเซอร์บางคนก็อาจจะมีส่วนร่วมในการตัดต่อกับผู้กำกับและนักตัดต่อ แต่ในอีกแง่หนึ่งของ Post-production โปรดิวเซอร์มีหน้าที่ช่วยวางแผนและตัดสินใจกลยุทธ์ทางการตลาดและการออกสื่อเพื่อโปรโมทภาพยนตร์ ซึ่งโปรดิวเซอร์จะต้องวางแผนการตลาดให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มี

ตำแหน่งของ Producer

เวลาที่เราหนั่งดูเครดิตตอนท้ายเรื่อง จะสังเกตได้ว่ามีตำแหน่ง Producer เยอะแยะมากมาย และแต่ละตำแหน่งก็จะมีความรับผิดชอบที่ไม่เหมือนกัน :
  • Producer : คือโปรดิวเซอร์ชนิดที่ทำงานอยู่ในกองถ่ายอยู่ตลอดเวลา คอยดูแลกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบการถ่ายทำ และจะได้ทำงานกับผู้กำกับอย่างใกล้ชิด
  • Line producer : มีหน้าที่สร้างตารางงานด้วยการเอาบทหนังมาแบ่งย่อยเป็นงานในแต่ละวัน จะต้องคอยสื่อสารกับแผนกที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาวางแผนตารางการถ่ายทำที่แม่นยำ
  • Creative producer : พวกเขาจะได้ร่วมงานกับผู้กำกับอย่างใกล้ชิด มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการคัดเลือกทีมงานและนักแสดง คอยให้คำแนะนำในการพัฒนาสคริปท์ และคอยช่วยสื่อสารโน้ตผู้กำกับให้กับแผนกที่เกี่ยวข้อง
  • Showrunners : ตำแหน่งนี้จะเป็นที่นิยมในงานทีวีซีรีส์ที่ถูกถ่ายทำหลายซีซั่น ยกตัวอย่างเช่น Game of Thrones, Breaking Bad หรือ Stranger Things ซึ่งซีรีส์เหล่านี้จะมี “Showrunners” ที่เป็น Producer มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทิศทางของเนื้อเรื่องและกระบวนการสร้างสรรค์ต่าง ๆ
  • Impact producer : เป็นโปรดิวเซอร์ที่คอยดูแลฝ่ายการตลาด มีหน้าที่ในการกระจายข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์และดึงดูดสำนักสื่อให้ช่วยโปรโมทหนังหรือละคร
  • Executive producer : ในบรรดาโปรดิวเซอร์ Executive producer จะใช้เวลาในกองถ่ายน้อยที่สุด แต่กลับได้เครดิตอยู่ระดับต้น ๆ นั่นเป็นเพราะว่า Executive producer ก็คือนักลงทุนดี ๆ นี่เอง เขาคือคนที่ลงทุนกับโปรเจคมากที่สุดด้วยเงินของตัวเอง เลยได้ชื่อติดเครดิตอยู่ในระดับต้น ๆ ข้างเคียงนักแสดงนำและผู้กำกับ

จะสังเกตได้ว่า Producer จะมีบทบาทหลักอยู่ 2 แบบ หนึ่งก็คือในบริบทของธุรกิจ เช่น การระดมทุน การลงทุน การวางแผนการตลาด และอีกบทบาทก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างผลงาน ทั้งสอง 2 บทบาทมีความสำคัญเหมือนกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าโปรดิวเซอร์คนนั้นชอบทำงานในด้านไหนมากกว่ากัน

ณัฐ ประกอบสันติสุข
สอนการถ่ายภาพแฟชั่น

เรียนรู้ทุกเคล็ดลับและเทคนิคจากช่างภาพแฟชั่นอันดับ 1
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแต่งหน้าสำหรับมือใหม่

บทสรุป

หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณได้รู้จักกับตำแหน่ง Producer และกระบวนการถ่ายทำมากยิ่งขึ้น สำหรับใครที่สนใจงานถ่ายทำและการเล่าเรื่องผ่านรูปถ่าย คุณสามารถเรียนกับ ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพแฟชั่นระดับประเทศ ได้แล้ววันนี้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

คอร์สเรียนของเรา