หนึ่งในเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดก็คือเครื่องดนตรีประเภทตี สำหรับเครื่องดนตรีไทยชนิดตี จะถูกนิยมสร้างด้วยไม้ โลหะ หรือหนัง และใช้ตีเพื่อประกอบและกำหนดจังหวะของเพลง
ระนาดเป็นเครื่องดนตรีที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก “กรับ” โดยปกติแล้วระนาดเอกจะทำด้วยไม้ไผ่บงหรือไม้แก่น ลูกระนาดจะมี 21 ลูก และถูกร้อยติดกันด้วยเชือกเพื่อแขวนบนรางไม้ที่มีรูปทรงคล้ายเรือ มีด้ามหัวและท้ายโค้งขึ้นเพื่ออุ้มเสียงของระนาด ในส่วนของหัวไม้ตีจะถูกทำด้วยผ้านุ่มถักกับด้าย เมื่อตีกระทบกับลูกระนาดแล้วจะเกิดเสียงกังวานและแกร่งกร้าว
ระนาดทุ้มเป็นวิวัฒนาการของระนาดเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งประกอบไปด้วยระนาดจำนวน 16-17 ลูก มีลักษณะที่กว้างและยาวกว่าระนาดเอก ตัวรางจะมีรูปทรงคล้ายกับหีบและไม่มีเว้ากลาง มีโขนหัวและท้าย สำหรับไม้ตีของระนาดทุ้ม จะใช้ไม้ตีที่ทำจากผ้าพันพอกแบบหนา ทำให้เวลาตีจะมีเสียงที่ “ทุ้ม”
ฆ้องเป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีไทยประเภทตีที่ยังถูกเล่นในปัจจุบัน ฆ้องถูกสร้างด้วยวัสดุโลหะ มีลักษณะทรงวงกลมและปุ่มนูนตรงกลางเพื่อรองรับการตีให้เกิดเสียงต่ำและสูง หรือเรียกว่า “ปุ่มฆ้อง” ในส่วนของพื้นเรียบที่อยู่บริเวณรอบปุ่มฆ้องคือ “หลังฉัตร” และส่วนขอบที่พับลงมารอบตัวก็คือ “ใบฉัตร” ฆ้องจะถูกใช้สำหรับการดำเนินทำนองหรือกำกับจังหวะ ซึ่งฆ้องก็จะถูกแบ่งออกไปอีกหลายชนิด เช่น ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมอญ ฆ้องกระแต ฆ้องราง ฯลฯ แต่ละชนิดก็จะมีจำนวนของปุ่มฆ้องและการตั้งฆ้องที่ไม่เหมือนกัน
ฉิ่งและฉาบเป็นอีกประเภทของดนตรีไทยที่ใช้ตีเพื่อกำกับจังหวะ
- ฉิ่ง ถูกสร้างด้วยวัสดุโลหะ มีเว้ากลาง รูปร่างกลม ปากผาย คล้ายกับฝาขนมครก ในขณะที่แสดง นักดนตรีจะต้องใช้ฉิ่งสองฝาเพื่อสร้างเสียง “ฉิ่ง” จากการกระทบระหว่างขอบฝาของทั้งสองและยกขึ้น ส่วนเสียง “ฉับ” เกิดจากการกระทบและกบค้างไว้
- ฉาบ มีลักษณะที่คล้ายกับฉิ่ง แต่ฉาบจะมีขนาดที่ใหญ่กว่ามากและมีปากที่หล่อบางกว่าฉิ่ง การเล่นก็ฉาบก็คล้ายคลึงกับฉิ่ง สามารถตีแบบประกบหรือแบบเปิดได้เช่นกัน
เครื่องดนตรีไทยชนิดตีแบบสุดท้ายก็คือ “กลอง” ซึ่งถูกใช้ในการบอกสัญญาณหรือบอกจังหวะในการประกอบดนตรี กลองจะถูกเรียกว่า “หุ่น” ทำด้วยไม้และข้างในเป็นโพรง หน้ากลองมักจะถูกขึงด้วยหนัง ตรึงด้วยหมุด และโยงด้วยหวายหรือรวด การตีกลองสามารถใช้ทั้งฝ่ามือหรือไม้สำหรับการตี
กลองแขก มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าด้านใหญ่เรียกว่า “หน้ารุ่ย” ส่วนหน้าด้านเล็กเรียกว่า “หน้าต่าน” หนังหน้ากลองทำด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ ใช้เส้นหวายฝ่าชีกเป็นสายโยงเร่งให้ตึงด้วยรัดอก สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” สำหรับการตี ต้องใช้ฝ่ามือทั้งสองตีทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก
โทน เครื่องดนตรีไทยชนิดตีที่ขึงหนังหน้าเดียว รูปร่างส่วนบนดูโตแต่ส่วนด้านล่างดูเรียว โทนจะมีอยู่ 2 แบบหลักซึ่งก็คือ “โทนมโหรี” และ “โทนชาตรี” มีความแตกต่างเล็กน้อยตรงความกว้างของหน้ากลองและวัสดุ โทนมโหรีมีหน้ากว้าง 22 เซนติเมตรและใช้ดินเผาในการสร้าง โทนมโหรีจะถูกใช้ในการเล่นวงมโหรี ส่วนโทนชาตรีจะมีหน้ากว้าง 17 เซนติเมตรและถูกสร้างด้วยไม้ขนุน ไม้สัก หรือ ไม้กระท้อน ใช้สำหรับการบรรเลงเพลงประกอบละครชาตรี หรือ วงปี่พาทย์
กลองทัด เครื่องตีที่ทำด้วยไม้ท่อน ภายในขุดเป็นโพรง หน้าทั้งสองข้างถูกขึงด้วยหนังวัวหรือหนังควายและตรึงด้วยหมุด ชุดหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ซึ่งจะถูกตั้งอยู่ทางขวา ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” จะอยู่ทางซ้าย ก่อนจะใช้ ต้องนำข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าและติดตรงกลางหน้าล่างเพื่อถ่วงเสียง แล้วใช้ไม้ตีอีกด้านหนึ่งแทน
ตะโพน/กลองตะโพน ตะโพนเป็นเครื่องตีที่ขึงหนัง 2 หน้า ช่วงหุ่นจะทำด้วยไม้แต่ภายในเป็นโพรง ในการใช้งานจริง ตะโพนจะถูกวางบนขาตั้งในแนวนอน ทำให้ผู้ตีสามารถตีได้ทั้งสองหน้า และในส่วนของ “กลองตะโพน” ก็คือการนำตะโพนสองลูกมาวางตะแคงลาดเข้าหาผู้ตีและใช้ไม้นวมระนาดในการตี