รวมเมนูอาหารไทย 4 ภาคที่นักทำอาหารต้องรู้

Apr 28 / IkonClass Staff
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกำเนิดอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยวัตถุดิบและภูมิปัญญาที่แตกต่างกันในแต่ละภาค ทำให้อาหารไทยนั้นมีกรรมวิธีการปรุงและรสชาติที่ซับซ้อนไม่ซ้ำกันในทั้ง 4 ภาค ในบทความนี้ ทาง IkonClass จะมาแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของอาหารไทยในแต่ละภาค สำหรับใครที่อยากลองทำเมนูอาหารไทยใหม่ ๆ ห้ามพลาด !
เชฟต้น-ธิติฏฐ์กับมุมมองต่ออาหารไทยที่แตกต่างไปจากเดิม | IkonClass
เรียนทำอาหารไทยกับ
เชฟมิชลิน

องค์ประกอบหลักของอาหารไทย

สำหรับใครที่พึ่งเริ่มศึกษาและทำอาหารไทย สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยไม่ว่าจะทำอาหารไทยภาคไหนก็ตามนั่นก็คือ :
  • เครื่องปรุงรส : หนึ่งในเสน่ห์ของอาหารไทยคือรสชาติที่หลากหลายและซับซ้อน ซึ่งหมายความว่าเชฟหรือโฮมคุ๊กต้องมีเครื่องปรุงรสที่สามารถปรุงได้หลากรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นรสเค็ม รสหวาน รสเปรี้ยว หรือรสเผ็ด สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องปรุงรสได้ที่นี่
  • เครื่องเทศ : อีกองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ก็คือเครื่องเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศสดอย่างขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หรือเครื่องเทศแห้งอย่างโป๊ยกั๊ก ยี่หร่า อบเชย พริกไทย ที่จะช่วยให้อาหารไทยของคุณมีความหอมและรสชาติที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
  • เครื่องแกง : สิ่งที่ชูรสของอาหารไทยทั้ง 4 ภาคให้อร่อยก็คือเครื่องแกง หรือที่เรียกว่า “พริกแกง” ซึ่งในแต่ละภาคก็จะมีการปรุงและการประยุกต์ใช้พริกแกงที่ไม่เหมือนกัน บางเมนูอาจจะนำพริกแกงมาผัดแห้ง บางเมนูอาจจะนำพริกแกงมาทำเป็นแกง
  • ข้าว : และที่ขาดไม่ได้เลยในการรับประทานอาหารไทยไม่ว่าจะมาจากภาคไหนก็ตาม ก็คือการทานคู่กับ “ข้าว” โดยเฉพาะข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว เพราะฉะนั้นเมื่อทำกับข้าวเก่งแล้ว ต้องอย่าลืมหันมาใส่ใจการหุงข้าวด้วย

อาหารภาคเหนือ

สำรับอาหารภาคเหนือ ไส้อั่ว แคบหมู
ด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมล้านนาและไทยอีสาน อาหารภาคเหนือจะมีรสชาติจัดจ้านเล็กน้อยจากผักและสมุนไพรจากตามเขา อาหารทางภาคเหนือจะนิยมทานคู่กับขาวเหนียวเป็นหลัก
  • ข้าวซอย : อาหารยอดนิยมของทางภาคเหนือ ปรุงแต่งรสชาติด้วยน้ำพริกข้าวซอยและแกงกะทิ ประดับจานด้วยเส้นหมี่กรอบ น่องไก่หรือเนื้อวัว ผักดอง หอมแดง และมะนาวเพื่อเพิ่มความเปรี้ยวและกลิ่นหอมให้กับตัวแกง
  • ขนมจีนน้ำเงี้ยว : มีรสชาติเปรี้ยว หวาน เผ็ด จากพริกแกงแห้งและมะเขือเทศ มีส่วนผสมของกระดูกหมู เลือดหมู เนื้อหมู และในบางสูตรอาจมีการใส่ถั่วเน่า เมนูนี้มักจะนิยมทานกับเส้นขนมจีน แคบหมู และกระเทียมเจียว
  • แกงฮังเล : เป็นแกงภาคเหนือที่เชื่อกันว่ามีต้นตอมาจากทางพม่า มีรสชาติที่เข้มข้น ตัวแกงจะปรุงด้วยผงมัสล่าพร้อมกับเครื่องเทศและสมุนไพรอย่างพริกสด มะขาม กระเทียมดอง ขิง งาขาวคั่ว และมีเนื้อหมูเป็นเนื้อแดงหลักของแกง
  • น้ำพริกหนุ่ม : ของฝากคู่ใจนักท่องเที่ยวจากภาคเหนือ ตัวน้ำพริกมีส่วนผสมหลักของพริกหนุ่ม กระเทียม หอมแดงที่ถูกนำไปย่างไฟจนเกรียมและมีกลิ่นหอม จากนั้นส่วนผสมจะถูกตำเข้าด้วยกันจนละเอียดและเสิร์ฟคู่กับผักต้ม แคบหมู และข้าวเหนียว
  • ไส้อั่ว : ไส้กรอกยัดไส้ที่เต็มไปด้วยส่วนผสมของหมูบด พริก กระเทียม ใบมะกรูด และพริกแกง ทำให้ไส้กรอกมีรสชาติที่เผ็ดและหอมกลิ่นสมุนไพร

อาหารภาคกลาง

ผัดไทยกุ้ง
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรและความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภาคกลาง ทำให้อาหารภาคกลางนั้นมีรสชาติและการใช้วัตถุดิบที่หลากหลายมากกว่าภาคอื่น ๆ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของอาหารภาคกลางคือการนำผักและผลไม้มาประดิษฐ์ตกแต่งด้วยการแกะสลักลวดลายให้สวยงาม
  • ต้มยำกุ้ง : เมนูยอดนิยมของชาวไทยและชาวต่างชาติ มีรสชาติที่เปรี้ยว เผ็ด เค็ม และหวานอยู่ในจานเดียว สามารถทำได้ทั้งในแบบน้ำข้น (ใส่กะทิ) และน้ำใส (ไม่ใส่กะทิ) ส่วนผสมหลักของต้มยำกุ้งประกอบไปด้วยสมุนไพรอย่างตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด รากผักชี พริกขี้หนู กุ้งแม่น้ำ เห็ดฟาง ปรุงด้วยน้ำปลา พริกเผา และจบด้วยมะนาวเพื่อความเปรี้ยวเล็กน้อย
  • แกงเขียวหวาน : เป็นแกงที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในแกงที่อร่อยที่สุดในโลก แต่ต่างจากชื่อที่มีคำว่า “หวาน” รสชาติของแกงจะมีความเค็มนำ มีรสเผ็ด และแอบแฝงด้วยรสหวานเพียงเล็กน้อย วัตถุดิบหลักของแกงเขียวหวานประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ พริกแกงเขียว กะทิ มะกรูด ใบโหระพา พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลปี๊บ สามารถรับประทานคู่กับเข้าเจ้าหรือขนมจีน
  • แกงเทโพ : เป็นอีกหนึ่งแกงเผ็ดของทางภาคกลางที่มีกะทิเป็นส่วนผสมหลัก เป็นแกงที่มีรสชาติเค็มนำ มีความเปรี้ยว และรสชาติหวานเพียงเล็กน้อย ส่วนผสมประกอบไปด้วยผักบุ้งอ่อน ใบมะกรูด พริกแกงแดง เนื้อมะพร้าวขูด สำหรับเนื้อสัตว์จะนิยมใช้เป็นหมูสามชั้นแทนปลาเทโพในสูตรดั้งเดิม
  • ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย : อาหารไทยภาคกลางที่มีอิทธิพลจากวัตถุดิบของจีนอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย เป็นเมนูที่ถูกรณรงค์ให้รับประทานในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผัดไทยจะมีรสชาติหวานนำ ประกอบไปด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้งแห้ง เต้าหู้ ถั่วลิสง ถั่วงอก กุยช่าย หัวไชโป๊ และเครื่องปรุงรสอย่างน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย มะขามเปียก น้ำปลา โดยปกติแล้วคนทานจะปรุงผัดไทยเพิ่มด้วยมะนาว น้ำปลา น้ำตาล หรือพริกป่นตามความชอบส่วนตัว
  • น้ำพริกกะปิ : อีกหนึ่งอาหารยอดนิยมจากภาคกลางก็คือน้ำพริกกะปิที่มีรสชาติเผ็ดและเค็มจากส่วนผสมของกระเทียม พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มะอึก กะปิ ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บและตัดเลี่ยนด้วยมะนาว น้ำพริกกะปิมักจะถูกนำมาทานคู่กับผักสด ผัดทอด และปลาทูทอด

อาหารภาคใต้

สำรับอาหารภาคใต้ ใบเหลียงผัดไข่ แกงใต้
อาหารภาคใต้ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่เผ็ดร้อนของแกง นับได้ว่าเป็นอาหารที่มีรสชาติเผ็ดที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารจากภาคอื่น ๆ และด้วยความใกล้ชิดของภูมิภาคกับทะเล ทำให้อาหารภาคใต้โดยส่วนมากใช้วัตถุดิบจากทะเลอย่างปลา ปู กุ้ง หอย เป็นหลัก
  • แกงไตปลา : เป็นแกงที่มีรสชาติเผ็ดร้อนและมีน้ำที่เข้มข้นโดยไม่ใช้หัวกะทิในส่วนผสม ส่วนผสมหลักจะมีไตปลาหรือพุงปลาพร้อมกับเนื้อปลาทู ตัวแกงจะถูกปรุงรสด้วยพริกแกงใต้ ใบมะกรูด น้ำตาลทราย ตามด้วยผักต่าง ๆ เช่น หน่อไม้ ถั่วพู ถั่วฝักยาว ฟักทอง
  • แกงส้ม : หรือที่ถูกเรียกว่า “แกงเหลือง” เป็นแกงของภาคใต้ที่มีรสชาติเผ็ดและเปรี้ยว มีส่วนผสมที่ประกอบไปด้วยพริกแกงใต้ เนื้อสัตว์ทะเลอย่างกุ้ง ปลา หรือปู ยอดมะพร้าว และปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ และมะนาว
  • คั่วกลิ้ง : ชื่อนี้ได้มาจากการคั่วส่วนผสมในกระทะจนแห้ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะนำพริกแกงใต้ไปผัดกับเนื้อสัตว์เช่นหมู ไก่ หรือเนื้อวัว และปรุงด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ และใบมะกรูด
  • ใบเหลียงผัดไข่ : ถึงแม้ว่าจะขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ด แต่ภาคใต้ก็ไม่ได้มีดีแค่อาหารเผ็ด ใบเหลียงผัดไข่เป็นเมนูที่คนใต้นำผักพื้นบ้านของภาคใต้ “ใบเหลียง” มาผัดปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม น้ำปลา น้ำตาลทราย พร้อมกับไข่ไก่ ทำให้เมนูนี้มีรสชาติที่เค็มอย่างลงตัว เหมาะกับการเสิร์ฟพร้อมแกงเพื่อตัดรสชาติเผ็ดร้อน
  • ผักกูดน้ำมันหอย : อีกหนึ่งเมนูที่ใช้ผักพื้นเมืองของทางภาคใต้มาประกอบอาหาร เป็นเมนูที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยสารอาหาร ปรุงด้วยการผัดกับกระเทียม ซอสน้ำมันหอย และพริกไทยป่นเล็กน้อย เป็นอีกหนึ่งเมนูที่จะช่วยสร้างความหลากหลายในสำรับอาหารของคุณ

อาหารภาคอีสาน

ส้มตำปูปลาร้า
อาหารของภาคอีสานจะเน้นรสชาติที่เผ็ด เปรี้ยว เค็ม และไม่นิยมทานรสหวาน ด้วยพื้นดินที่ราดสูงและขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้พืชผักนั้นโตได้ยากในทางภาคอีสาน ภาคอีสานเป็นแหล่งที่มาของปลาร้าซึ่งกำเนิดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต้องการถนอมเนื้อปลาสด
  • ส้มตำ : เมนูขวัญใจคนไทยและชาวต่างชาติ มีรสชาติเปรี้ยว เผ็ด เค็ม และหวาน วัตถุดิบสำหรับส้มตำก็เรียบง่ายและไม่ต้องใช้กรรมวิธีที่ยุ่งยาก โดยมีแค่ครกกับสาก และวัตถุดิบอย่างมะละกอ มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว พริก กระเทียม ปลาร้า และเครื่องปรุงรสประจำครัวไทย แค่นี้ใคร ๆ ก็สามารถทำส้มตำที่อร่อยได้แล้ว
  • น้ำตกหมู : เป็นเมนูที่เน้นรสชาติเผ็ด มีส่วนผสมของข้าวคั่ว พริกป่น หอมแดง ผักชี ใบสะระแหน่ นำไปคลุกปรุงรสกับน้ำปลา น้ำมะนาว และคอหมูย่าง ก็จะได้เป็นเมนูน้ำตกหมูแซ่บไว้ทานเป็นกับแกล้มก็ดี เป็นเมนูหลักก็ได้
  • แกงไข่หมดแดงผักหวาน : ยิ่งในช่วงฤดูร้อนที่แห้งแร้งและปราศจากเนื้อสัตว์อย่างปู ปลา หรือพืชผัก ทำให้คนภาคอีสานต้องประยุกต์ใช้วัตถุดิบเท่าที่มีอย่างผักหวานและไข่มดแดง โดยการทำแกงนี้ต้องมีผักหวานป่า ไข่มดแดง ใบแมงลัก ใบมะกรูด และเครื่องพริกแกง (พริกแห้ง ตะไคร้ หอมแดง เกลือป่น) ปรุงเพิ่มเติมด้วยน้ำปลาและน้ำปลาร้า
  • อ่อมปลาดุก : อาหารยอดนิยมของชาวอีสาน “อ่อมปลาดุก” เป็นแกงที่ประกอบไปด้วยผักหลากชนิดเช่น มะเขือเปราะ ต้นหอม กะหล่ำปลี ใบแมงลัก ผักชีลาว เนื้อปลาดุก และปรุงด้วยพริกแกง น้ำปลา และน้ำปลาร้า
  • ปลาส้ม : อีกหนึ่งเมนูของภาคอีสานที่ใช้ภูมิปัญญาของการหมักดองเพื่อถนอมเนื้อปลาสด โดยที่เนื้อปลาสดจะถูกปรุงรสด้วย เกลือ ข้าวสุก กระเทียม และหมักทิ้งไว้ 4-5 วัน ปลาส้มจะถูกนำมาทอดหรือยางไฟจนสุกและท่านคู่กับหัวหอมซอยและพริกขี้หนูสด

เชฟต้น
สอนการทำอาหารไทยสไตล์โมเดิร์น

เรียนรู้เทคนิคการทำอาหารไทย จากเชฟระดับมิชลิน
เชฟต้น-ธิติฏฐ์กับมุมมองต่ออาหารไทยที่แตกต่างไปจากเดิม | IkonClass

บทสรุป

จะสังเกตได้ว่าอาหารของแต่ละภาคนั้นจะประยุกต์กรรมวิธีและเลือกใช้วัตถุดิบไปตามภูมิประเทศและวัฒนธรรมต่าง ๆ นานา ทำให้อาหารไทยมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและหลากหลาย
หวังว่าทุกท่านจะได้ไอเดียการทำอาหารไทยเพิ่มขึ้นและได้ลองทำอาหารที่แตกต่างไปจากเมนูที่ทำอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าคุณอยากพัฒนาฝีมือการทำอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้น คุณสามารถสมัครเรียนทำอาหารกับเชฟมิชลิน เชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร ได้แล้ววันนี้ที่ IkonClass

บทความล่าสุด

บทเรียนของเรา